กรรมและการกระทำในศาสนาพุทธ

กรรมคืออะไร กรรมแปลว่าการกระทำ พระพุทธเจ้าว่าเป็นอจินไตย ไม่ควรคิด ถ้าคิดเรื่องกรรมมีโอกาสเป็นบ้าได้ อจินไตยมี ๔ อย่างคือ ๑ วิสัยของพระพุทธเจ้า ๒ เรื่องของโลก ๓ เรื่องของกรรม ๔ เรื่องผู้ได้ฌานอภิญญา ๔ เรื่องนี้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าไม่ควรคิด เพราะ ๔ เรื่องนี้เกิดจากเหตุปัจจัยที่ละเอียดลึกซึ้ง กว้างไกล ทับซ้อน ยากที่วิสัยของคนธรรมดาจะเข้าถึงได้ง่าย ๆ เป็นวิสัยของการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเท่านั้น จึงจะเข้าถึงได้

วันนี้ก็จะขออธิบายเรื่องกรรมที่พอจะเข้าถึงได้ไปก่อน กรรมของคนเรา พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่ามี ๓ กรรม คือ มโนกรรม วจีกรรม กายกรรม

มโนกรรมคือความคิด ความคิดของเราเป็นกรรม เพราะความคิดของคนเราเกิดจากการปรุงแต่งของข้อมูลบวกหรือลบ ที่เก็บไว้ในสัญญาความจำของคนเรา การปรุงแต่งมีกรรมและผลของการกระทำให้เกิดความคิดเกิดขึ้น ฉะนั้นความคิดของคนเราแต่ละครั้ง จึงมีกรรม หรือการกระทำเกิดขึ้น แล้วจึงมีผลของการกระทำตามมา ใจของเราก็เก็บข้อมูลของความคิด และผลของความคิดไว้ในใจต่อไป คอยเวลาที่จะแสดงผลออกมา ว่าเราทำอะไรไว้บ้าง เพราะเป็นธรรมชาติของจิตใจของคนเรา จะเห็นว่าใจเราไม่ใช่เก็บกรรมและผลของกรรมไว้เฉย ๆ แต่ละเรียงลำดับถ่ายทอดออกให้ผล ตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงอนาคตเบื้องหน้า กรรมที่เราทำไว้นั้นไม่หายไปไหน เป็นอย่างเดียวกับต้นมะม่วง ถ้าไม่ถึงเวลาเหตุปัจจัยพร้อม ก็จะไม่ออกผลเป็นผลมะม่วง แล้วผลมะม่วงมันไปอยู่ตรงไหน ก็อยู่ในลำต้นของต้นมะม่วง เช่นเดียวกับผลของกรรมของคนเรา ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยพร้อมก็ไม่ออกมาให้ผล ให้คนรู้เห็นได้ ตอนที่มันไม่ให้ผล มันก็อยู่ในตัวของคนเรา เหมือนผลมะม่วงอยู่ในต้นมะม่วง ฉันใดฉันนั้น

วจีกรรม ก็มีลักษณะอย่างเดียวกับมโนกรรม คนเราจะพูดออกมา ก็ต้องอาศัยข้อมูลที่เป็นสัญญาความจำที่เก็บไว้ในใจ ที่เป็นฝ่ายบวกหรือฝ่ายลบ ที่ผลัดเปลี่ยนออกมาเป็นเหตุปัจจัยในการปรุงแต่ง ให้คนเราออกมา ถ้าข้อมูลลบให้ผล คำพูดก็จะออกมาไม่ดี ทำให้คนเรามีเรื่องมีราวทะเลาะกัน แต่ถ้าข้อมูลบวกมาให้ผล คำพูดก็พูดสิ่งที่ดีไพเราะออกมา สร้างสุขกับคนฟังได้ จะเห็นว่าการพูดจึงเป็นกรรม หรือการกระทำออกมา ย่อมมีผลของการพูดเกิดขึ้น เรียกว่าผลของกรรม ใจเป็นผู้ส่งข้อมูลให้คนเราพูด ใจก็ต้องเก็บข้อมูลของการพูดเก็บไว้ในใจอีก แล้วก็แสดงผล ออกมาให้ผลตามกรรมที่ทำไว้

ส่วนกายกรรม ก็เหมือนกับทางวจีกรรม ได้รับข้อมูลจากมโนกรรมที่ปรุงแต่งเสร็จเรียบร้อย ถ่ายทอดไปสู่การกระทำทันทีในทางกาย การกระทำทางกายจึงหนักหน่วงกว่าทางมโนกรรม และวจีกรรม เช่น คนเราไม่พอใจมาก่อน แล้วถ่ายทอดออกเป็นคำด่าทางวจีกรรม ด่าแล้วยังไม่พอ ต้องถ่ายทอดความไม่พอใจนั้นออกไปทางกาย เช่น ทุบตี ฆ่าฟัน เป็นต้น จะเป็นการทำกรรมที่หนักกว่าทุกทาง มีผลกว้างไกล ออกมาเป็นรูปธรรมที่ตั้งอยู่ยาวนาน เป็นบาดแผลเกิดขึ้น กับวัตถุสิ่งของ และสัตว์บุคคล ที่เห็นได้ชัด ใจของเราก็จะเก็บผลการกระทำทั้งหมดเป็นวิบากกรรมไว้ในใจ แล้ววิบากกรรมนั้นก็ทยอยมาให้ผลตามธรรมชาติ เรียกว่ากฎแห่งกรรม

ทุกคนต้องมาชดใช้วิบากกรรมที่ทำไว้ตลอดเวลา

เรารู้จักตัวเราเองดีแล้วหรือยัง

การใส่ข้อมูลของพระธรรมคำสอน

เราดำเนินชีวิตด้วยกรรมหรือพฤติกรรม

คนเราทุกคนเป็นธรรมชาติ

ความไม่รู้จับกุมคุมขังตัวของเราไว้หมด

คำว่าข้อมูลควบคุมตนเอง

ความจริงนั้นมี ๒ อย่าง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy