อวิชชา (๑) การเกิดเป็นคน

ตัวเรามีอวิชชาหรือความไม่รู้ กำกับการดำเนินชีวิตของคนเราทุกคน การดำเนินชีวิตด้วยอวิชชาในทางมโนกรรม วจีกรรม และกายกรรม แต่ละวันคนเราบำเพ็ญอกุศลกรรมตลอดเวลา น้อยครั้งการดำเนินชีวิตของเราจะเป็นกุศลกรรม บวกลบกันแล้ว แต่ละวันคนเราทำอกุศลกรรม มากกว่ากุศลกรรม พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า คนเราเวียนว่ายตายเกิด มานับภพนับชาติไม่ถ้วน ก็เพราะว่าคนเราเจริญเหตุปัจจัยในการเวียนว่ายตายเกิดตลอดเวลา ไม่ได้หยุด เพราะความไม่รู้หรืออวิชชากำกับชีวิตคนเรา แม้แต่จะมาเกิดเป็นคน แต่ละชาติก็ยากเย็นแสนเข็ญ คนเราไม่ได้เกิดมาง่าย ๆ ถ้าไม่มีบุญกุศลไม่ได้เกิดมาเป็นคน เรียงลำดับของการเกิด ดังนี้

*เกิดมาเป็นมนุษย์ เป็นอันดับ ๑

*เกิดเป็นเทวดา อินทร์ พรหม เป็นอันดับ ๒

*เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นอันดับ ๓

*เกิดเป็นพวกผีเปรต เป็นอันดับ ๔

*เกิดเป็นสัตว์นรก เป็นอันดับ ๕

คนเราที่เกิดมาในขณะนี้ น้อยคนหรือเกือบจะไม่มีเลย ที่จะบำเพ็ญตนเองให้ได้เกิดเป็นคนอีก มีแต่บำเพ็ญไปนรกเดรัจฉานเป็นส่วนมาก เพราะคนเราไม่เข้าใจว่า ความพอใจ ไม่พอใจ ที่ทุกคนแสวงหานั้น นำพาตนเองไปเกิดในนรกเดรัจฉาน แต่ละคนตื่นมาแต่ละวัน ก็อยากไปแสวงหาความพอใจ ไม่พอใจ (อวิชชา) ไม่หยุดหย่อน เพราะพวกเขาไม่รู้เลยว่า สิ่งที่ตนเองไปแสวงหานั้น คือเหตุปัจจัยของการสร้างทุกข์ให้กับตนเอง เพราะพวกเขาไม่พบพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ตรัสรู้ฝากไว้ให้กับมนุษย์ เอาไปฝึกฝนตนเองให้พ้นไปจากทุกข์

ทุกข์คือความเกิด ถ้าเกิดอยู่ก็ต้องทุกข์ตลอดไป ถ้าดับการเกิดได้ ก็ดับทุกข์ได้ ดับความเกิดได้ ก็ดับอวิชชาได้

อวิชชาเกิดที่ไหน เกิดที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดเพราะตามสิ่งที่มากระทบสัมผัสไม่ทัน ไปหลงพอใจ แปลว่าโลภ ไม่พอใจแปลว่าโกรธ ตามไม่ทันแปลว่าหลง โลภโกรธคือทุกข์ ในอริยสัจ ๔ ตามไม่ทันคือหลง ก็คือสมุทัยในอริยสัจ ๔ ถ้าตามทัน ทุกข์ก็ไม่เกิด ตามทันแปลว่านิโรธ ตามทันเป็นประจำ เรียกว่า มรรคปฏิปทา หรือทางดับทุกข์ หรือทางดับอวิชชา

พระพุทธเจ้าได้วางทางดับทุกข์ไว้คือ การวิปัสสนาภาวนาขันธ์ ๕ อินทรีย์ ๖ คือ ท่องจำกฎธรรมชาติ ๒ กฎ ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ สรุปว่าไม่เที่ยงเกิดดับ กำกับการกระทบสัมผัสทางอินทรีย์ ๖ ให้ตามทันโลกภายนอก ที่มากระทบสัมผัสตัวของเราว่า มันไม่เที่ยงเกิดดับ เพื่อดับความพอใจ ไม่พอใจที่จะเกิดขึ้นตามมากับการกระทบสัมผัส นั่นคือทุกข์เกิดที่ไหน ให้ดับที่นั่น พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนี้


เมื่อคนเราใส่ข้อมูลกฎธรรมชาติ ๒ กฎเข้าไว้ในใจแล้ว (ข้อมูลสั่งใจ ใจสั่งร่างกาย) แล้วก็เอาข้อมูลไม่เที่ยงเกิดดับ ไปพิจารณาโลกและชีวิต หรือกาย เวทนา จิต ธรรม หรือสติปัฏฐาน ๔ ให้รู้เห็นโลกและชีวิตตามความเป็นจริงว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดจากเหตุปัจจัยมาประชุมกันชั่วคราว แล้วแตกสลาย ไม่มีตัวตนเป็นของตนเอง ว่างเปล่าจากตนและของของตน แล้วความเบื่อหน่ายละคลาย ก็จะเกิดขึ้น แล้วก็ดับอวิชชา หรือทุกข์ถาวรได้

การปฏิบัติธรรมที่ถูกต้องตรงตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่บันทึกไว้ในพระไตรปิฎกจำนวน ๔๕ เล่ม ต้องศึกษาพระธรรมคำสอนของท่านให้จบ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แล้วเข้าใจพระธรรมคำสอนของพระองค์ท่านด้วยว่า พระธรรมคำสอนสูตรไหนเป็นพระธรรมส่วนเป็นเหตุ และสูตรไหนเป็นพระธรรมคำสอนส่วนที่เป็นผล พระธรรมสูตรไหนสอนอริยบุคคล สูตรไหนสอนคนธรรมดาทั่วไป สูตรไหนเป็นคำย่อ ถ้ารู้ว่าเป็นคำย่อแล้ว ต้องรู้ว่าคำเต็มเป็นอย่างไร

พระธรรมคำสอน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้น ส่วนมากเป็นผลของการตรัสรู้ ไม่ใช่เป็นพระธรรมส่วนที่เป็นเหตุ รู้ได้อย่างไร รู้ได้โดยเห็นว่าตอนเป็นเจ้าชายสิทธัตถะพระองค์ไม่ได้สอนธรรมเลย แต่พอตรัสรู้แล้ว พระองค์ท่านสอนพระธรรมคำสอน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ฉะนั้นพระธรรมคำสอน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ จึงเป็นผลของการตรัสรู้ จะเอาไปปฏิบัติทันทีโดยไม่พิจารณา แล้วก็เอาพระธรรมคำสอนส่วนที่เป็นผลไปปฏิบัติ ทำให้เป็นการปฏิบัติธรรม ไม่ถูกธรรม จึงทำให้ไม่มีการบรรลุธรรม ไม่มีดวงตาเห็นธรรม จึงละอวิชชาไม่ได้

ถ้าต้องการดับอวิชชา หรือละอวิชชาได้นั้น ต้องปฏิบัติธรรมถูกธรรมสมควรแก่ธรรมเท่านั้น ปฏิบัติอย่างไร ปฏิบัติโดยเอาพระธรรมส่วนที่เป็นเหตุของการตรัสรู้มาวิปัสสนาภาวนา กำหนดรู้สติปัฏฐาน ๔ พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร ตรัสรู้ว่าโลกและชีวิตเป็นธรรมชาติทั้งหมด ธรรมชาติทั้งหมด ลงในกฎธรรมชาติ ๒ กฎ คือกฎไตรลักษณ์ และกฎเหตุปัจจัย หรืออิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท ไม่มีอะไรบังเอิญ มีเหตุปัจจัยให้เกิด ก็เกิด มีเหตุปัจจัยให้ตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ มีเหตุปัจจัยให้แตกสลาย ก็แตกสลาย สรุปกฎธรรมชาติ ๒ กฎนี้ว่า ไม่เที่ยงเกิดดับ


อวิชชา (๒) การวิปัสสนา

อวิชชา (๓) ความรู้สึกนึกคิด

อวิชชา (๔) ตัวกูของกู

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy